ศรีศักร วัลลิโภดม

อาจารย์ศรีศักรสนใจศึกษาแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน สามารถเขียนบทความและบรรยายได้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนในแอ่งอารยธรรมแห่งนี้ โดยใช้การแบ่งเขตตามสภาพภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับลักษณะทางวัฒนธรรม และยังมีผลงานที่ได้รับการจัดพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา

6820 views | โบราณคดี


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักรวัลลิโภดม เกิดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ จบการศึกษาขั้นมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนอัสสัมชัน(บางรัก) เข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เข้าเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาได้รับทุนโคลัมโบไปศึกษาวิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Western Australia จนจบปริญญาโท

ปีพ.ศ.๒๕๑๔ กลับมาได้สอนวิชามานุษยวิทยาที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเวลา ๒ ปี แล้วจึงกลับมาเป็นอาจารย์ประจำในภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปี พ.ศ.๒๕๒๓ได้รับเชิญไปสอนวิชาโบราณคดีประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล

ปี พ.ศ.๒๕๒๙ ได้รับเชิญไปร่วมงานค้นคว้าเกี่ยวกับชุมชนโบราณในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น กับนักวิชาการญี่ปุ่นที่ Centre for Southeast Asian Studies ของมหาวิทยาลัยเกียวโต และได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมและเสนอผลงานในการประชุมระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลี อินโดนีเซีย ศรีลังกา ฯลฯ

ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ร่วมเป็นคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ

ปี พ.ศ.๒๕๕๐ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟูกูโอกะ ประเภทผลงานวิชาการ ครั้งที่ ๑๘ ประจำปี ๒๕๕๐ (The 18th Fukuoka Asian Culture Prizes 2007, Academic Prize) เป็นบุคคลผู้ทำงานศึกษาค้นคว้างานวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา

ผลงานทางวิชาการโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานสนับสนุนกองทุนการวิจัย (สกว. )และผลงานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ วารสารศิลปวัฒนธรรม นิตยสารอื่นในรูปแบบของบทความ อาทิ วัฒนธรรมปลาแดก, จันเสน : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งแรกในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก, เหล็กโลหะปฏิวัติเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว : ยุคเหล็กในประเทศไทยพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม, ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองอู่ทอง, คู่มือฉุกคิด : ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกในท้องถิ่น, แอ่งอารยธรรมอีสาน อาจารย์ศรีศักรเป็นผู้ที่สนใจการศึกษาแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และออกสำรวจด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มรับราชการที่คณะโบราณคดีจนถึงปัจจุบัน ความสนใจเป็นพิเศษอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน จนท่านสามารถเขียนบทความและบรรยายได้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนในแอ่งอารยธรรมแห่งนี้ โดยใช้การแบ่งเขตตามสภาพภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับลักษณะทางวัฒนธรรม และยังมีผลงานที่ได้รับการจัดพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา

ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์พิเศษ
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจโบราณคดี, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
หัวเรื่องหลักโบราณคดี
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)