สุริยา สมุทคุปติ์

อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับชนบทศึกษา แรงงานข้ามชาติ วัฒนธรรมศึกษา ฯลฯ

1921 views


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

อ.สุริยา สมุทคุปติ์ ถือกำเนิดและเติบโตในจ.เชียงใหม่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2490 เชียงใหม่ในยุคนั้นนับเป็นเมืองที่กำลังเติบโตจากการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯประกอบกับการเดินทางเข้ามาของมิชชันนารีจากต่างประเทศอ.สุริยาจึงมีความรู้สึกคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นนานาชาติตั้งแต่เล็กในวัยเด็กอาจารย์สุริยาเรียนหนังสือที่ปรินส์รอแยลวิทยาลัย ควบคู่กับการเข้าไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษที่ AUA ทำให้อาจารย์สุริยามีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วและมีความรักในการเรียนรู้ภาษาประกอบกับการชอบออกเดินทางติดตามบิดาซึ่งเป็นข้าราชการท้องถิ่นไปยังสถานที่ต่างๆส่งผลให้ อ.สุริยามีนิสัยช่างสังเกตและจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ที่พบเห็นเป็นกิจวัตร

เมื่อจบการศึกษาในระบบมัธยมศึกษาอ.สุริยา ได้สมัครเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับนักมานุษยวิทยาอเมริกาหลายท่าน อาทิ ดอนนา มาลคัม และปีเตอร์ กุนสตัตเตอร์ ทำให้ อ.สุริยาต้องทำหน้าที่ออกสำรวจเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยา จดบันทึก และทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาโดยระหว่างรับหน้าที่นี้ อ.สุริยาก็ได้เรียนรู้วิธีการทำงานภาคสนามไปโดยปริยาย

ช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ซึ่งอยู่ในช่วงของสงครามเย็นหลังจากที่ อ.สุริยา เสร็จภาระกิจการเป็นผู้ช่วยนักวิจัยรวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นล่ามในค่ายทหารอเมริกาอ.สุริยาได้สมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่สหรัฐอเมริกาโดยเลือกเรียนในสาขามานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเติลณ. เมืองนี้เอง อ.สุริยาได้ลงเรียนและเป็นทั้งลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของ ศ. ดร. ชาลส์ คายส์ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของอเมริกาต่อการศึกษาประเทศไทยและวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศ.ดร.คายส์ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการศึกษาชาวนาในภาคอีสาน บทบาทของภูมิภาคนิยมกับการสร้างรัฐชาติไทยรวมไปถึงการศึกษาอุดมการณ์และปฏิบัติการณ์ในระดับชีวิตประจำวันของชาวนา

อ.สุริยา กลับมาทำงานในประเทศไทยครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยใช้วุฒิปริญญาโทเข้าบรรจุงานวิจัยของ อ.สุริยา ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมักเป็นการศึกษาสังคมชนบทและความเปลี่ยนแปลงเป็นหลักด้วยอิทธิพลทางความคิดจาก ศ.ดร. คายส์อ.สุริยานับเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกของภาคอีสาน เป็นทั้งแรงบันดาลใจและผู้อบรมสั่งสอนนักมานุษยวิทยาในภาคอีสานรุ่นหลังโดยเฉพาะการเก็บข้อมูลภาคสนาม การสัมภาษณ์บุคคล รวมไปถึงการใช้แนวคิดทางมานุษยวิทยามาใช้ร่วมกับการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ

อ.สุริยาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกือบสองทศวรรษและย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจนกระทั่งเกษียณอายุราชการที่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้อาจารย์สุริยาได้ทำหน้าที่ทั้งสอนและบุกเบิกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแสดงพื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ ผ้า วัตถุทางวัฒนธรรม รวมไปถึงประเด็นสำคัญอันเกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ เช่น แรงงานและการย้ายถิ่น ร่วมกับดร. พัฒนา กิติอาษา (ปัจจุบันเสียชีวิตในขณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์)

หลังเกษียณอายุราชการ อ.สุริยากลับมาพำนักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่บ้านเกิดยังคงเขียนงานวิชาการและเข้าร่วมฟังและเสนอบทความวิชาการอย่างต่อเนื่อง

ประวัติการศึกษา

M.A. (Sociocultural Anthropology) University of Washington, Seattle, WA, USA

M.A. (Intercultural Communication) Portland State University, Portland, OR, USA

Certificate in Teaching English as a Second Language, Portland State University, Portland,OR, USA

B.A. (Social Science for Secondary Education) Pacific Lutheran University, WA, USA

ตำแหน่งทางวิชาการอาจารย์
หน่วยงานที่สังกัดปัจจุบันศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจวัฒนธรรมศึกษา, แรงงานข้ามชาติ, ชนบทศึกษา
ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)