ชนัญ วงษ์วิภาค
จบการศึกษาด้านมานุษยวิทยา จากประเทศออสเตรเลีย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร มีความเชี่ยวชาญและสนใจในประเด็นชาติพันธุ์และนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ปัจจุบันยังคงสอนหนังสือและทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
1550 views | ชาติพันธุ์, นิเวศวิทยาวัฒนธรรม
ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน | รองศาสตราจารย์ชนัญ วงษ์วิภาค เริ่มต้นเส้นทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาในระดับอุดมศึกษา ด้วยความสนใจภาษาต่างประเทศ คณะโบราณคดีในช่วงปลายทศวรรษ 2510 คงเป็นคณะวิชาที่สอนวิชาต่างๆ โดยใช้ตำราต่างประเทศ และเลือกมองเห็นช่องทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เพิ่มพูน โดยอาศัยความรู้ทางภาษา การถ่ายทอดความรู้ในสาขามานุษยวิทยา ต้องอาศัยการบรรยายจากอาจารย์ในสถาบันต่างๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.พัทยา สายหู, ศาสตราจารย์ ดร.สนิท สมัครการ, ศาสตราจารย์ ดร.อัมรา พงศาพิชญ์, รองศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ นิยมญาติ เป็นต้น เมื่อจบการศึกษา ราวพุทธศักราช 2515 รองศาสตราจารย์ชนัญ วงษ์วิภาค ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิจัย ดร.วรรณ วิบูลย์ แอนเดอร์สัน และสามี จึงได้เรียนรู้กระบวนการมานุษยวิทยา ที่อาศัยฐานคิดทางคติชนวิทยาในการศึกษาสังคมเพิ่มเติม จนราวพุทธศักราช 2519 รองศาสตราจารย์ชนัญ ได้รับทุนการศึกษา “โคลัมโบ” เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตประเทศออสเตรเลีย โดยได้ประสบการณ์ค้นคว้าวิจัยจากนักวิชาการชาวต่างประเทศจากสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ General Studies School และ Research School of Pacific รองศาสตราจารย์ชนัญกล่าวถึงอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้คนสำคัญ ได้แก่ Dr. Richard David, Dr. Gehan Wijeyewardene และ Dr.Graham Harison ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิต รองศาสตราจารย์ชนัญ ได้แรงบันดาลใจจากงานศึกษาของศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน และรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นั่นหมายถึงงานศึกษาทางด้านโบราณคดีกับมานุษยวิทยาไม่แยกกัน ด้วยเหตุนี้เอง การศึกษาเปรียบเทียบเทคโนโลยีทางการเกษตรและความเปลี่ยนแปลงด้านเทคนิคกลายเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ และพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเป็นสนามศึกษาของรองศาสตราจารย์ชนัญ ในช่วงเวลานั้น ราวพุทธทศวรรษ 2520 สังคมสุโขทัยเพิ่งเปิดรับเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น รถไถ ได้ไม่นาน แม้ภายหลังจบการศึกษา มีหน่วยงานระหว่างประเทศให้ความสนใจกับรองศาสตราจารย์ชนัญ แต่ด้วยความตั้งใจในการเป็นนักวิชาการและเป็นอาจารย์เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม อาจารย์เข้ารับราชการที่ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร และทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แนวทางความสนใจทางวิชาการภายหลังเมื่อรองศาสตราจารย์ชนัญจบการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย คงสืบเนื่องจากงานวิจัยในระดับมหาบัณฑิต ที่เน้นงานด้านมานุษยวิทยาเศรษฐกิจและสังคมชาวไร่ชาวนา จากนั้น รองศาสตราจารย์ชนัญขยายมุมมองและความสนใจในด้านนิเวศวิทยาวัฒนธรรม เพราะมองเห็นถึงความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมและการทำกินของผู้คน เมื่อนักวิจัยพิจารณาวิธีการทำมาหากินแล้ว ย่อมต้องมองเชื่อมโยงถึงความเชื่อ ที่อาจจะสัมพันธ์กับดินฟ้าอากาศและอื่นๆ การขยายขอบวงของความสนใจดังกล่าว ช่วยให้คำอธิบายด้านสังคมและวัฒนธรรมมีความลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น หลังจากเข้ารับราชการระยะหนึ่ง รองศาสตราจารย์ชนัญมีโอกาสลาราชการเพื่อศึกษาวิจัยเป็นเวลาหนึ่งปีโดยเลือกพื้นที่วิจัยที่บ้านแหลม บ้านปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี เมื่อราวพุทธศักราช 2529 เพราะพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ขอบเขตของการทำงานในช่วงเวลานั้นคือ ความเปลี่ยนแปลงด้านป่าชายเลน จึงสร้างบ้านพักใกล้กับชาวประมง แต่ในช่วงเตรียมการก่อนการศึกษาภาคสนาม เริ่มให้ความสนใจกับชีวิตประมง และหาโอกาสศึกษาเพิ่มเติมจากชั้นเรียนของอาจารย์สนิท อักษรแก้ว ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เนื้อหาในชั้นเรียนเสริมให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน ทั้งน้ำขึ้นลง ข้างขึ้นข้างแรม นี่เองชี้ให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ควรเป็นสองศาสตร์ที่ผสานกัน ในกระบวนการศึกษาสังคม นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ชนัญให้ความสนใจกับประเด็นทางชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาวเวียง ลาวโซ่ง ลาวครั่ง ทั้งระบบความเชื่อ อาหารการกิน และโดยเฉพาะเรื่องผ้าทอในฐานะ “พรมแดนระหว่างชาติพันธุ์” รองศาสตราจารย์ชนัญกล่าวถึงการศึกษาลวดลาย สีสัน โครงสร้างผ้า เทคนิคที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากระบบนิเวศที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ ที่ส่งอิทธิพลต่อเทคนิคการผลิตผ้าเช่นกันในราวพุทธทศวรรษ ๒๕๓๐ รองศาสตราจารย์ชนัญเริ่มเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์ไขศรี ศรีอรุณ โดยเป็นการผสมผสานความรู้ทางศิลปะไทยพื้นบ้าน มานุษยวิทยา และศาสตร์ของการออกแบบ การสร้างสรรค์การออกแบบหลายประเภทอาศัยการพัฒนา “รูปแบบตามหน้าที่ใช้สอย” จากนั้น ให้ความสนใจเพิ่มเติมกับศิลปะไทยในราชสำนักดังเช่นการถ่ายทอดงานศิลปะประเพณีในวิทยาลัยในวัง ซึ่งอาศัยการจัดการอยู่บนกฎเกณฑ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีการสอนด้าน “Integrated Humanities, Social Science” ซึ่งเป็นวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์ชนัญพยายามผนวกมานุษยวิทยาไว้กับความเป็นวิทยาศาสตร์ และสอดแทรกความเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง และยังได้พัฒนารูปแบบการสอนในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงความรู้กับการทดลองทำกิจกรรม เรียกได้ว่า เป็นความพยายามปรับความรู้และเทคนิคการเรียนการสอน ควบคู่กับการเรียนรู้ถึงเปลี่ยนแปลง ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง |
---|---|
ตำแหน่งทางวิชาการ | รองศาสตราจารย์ |
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจ | ชาติพันธุ์, นิเวศวิทยาวัฒนธรรม |
ผลงานวิชาการ (PDF) | ดาวน์โหลด |
---|
ผู้เผยแพร่ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
---|---|
รูปแบบลิขสิทธิ์ | สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons) |
หัวเรื่องหลัก | ชาติพันธุ์, นิเวศวิทยาวัฒนธรรม |
ผู้จัดทำ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |