สุเทพ สุนทรเภสัช

ผศ.ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของวงการมานุษยวิทยาไทย มีผลงานที่สำคัญ อาทิ ทฤษฎีชาติพันธุ์สัมพันธ์ รวมบทความทางทฤษฎีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ เชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ การจัดการองค์กรความสัมพันธ์ และรัฐประชาชาติ (2555), ทฤษฎีมานุษยวิทยา: พัฒนาการมโนทัศน์พื้นฐานและทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรม (2553)

5177 views | มานุษยวิทยา, ชาติพันธุ์, สังคมวิทยา


ประวัติส่วนตัว/ประวัติการทำงาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ๒ ปริญญา ได้แก่ รัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) แผนกวิชาการทูตและการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้น เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำแผนกสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนมูลนิธิเอเชีย-ประเทศไทย ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา สำนักแอฟริกันและบูรพทิศศึกษา (School of Oriental and African Study: SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร นับว่าเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกของไทย

ต่อมา โอนย้ายไปรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา และศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์คเลย์ สหรัฐอเมริกา

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ และได้รับพิจาณาแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช ได้ทุ่มเทค้นคว้าและผลิตตำรา บทความวิชาการ บทความวิจัยที่เป็นคุณประโยชน์ต่อวงการวิชาการด้านมานุษยวิทยาเป็นอย่างยิ่ง ได้มีโอกาสวิจัยภาคสนามร่วมกับนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ


คุณูปการทางวิชาการและสังคม

ภายหลังจากที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จาก สหราชอาณาจักรแล้ว ได้เข้าร่วมการทำงานในโครงการวิจัยสำรวจชาวเขากับ Lauriston Sharp โดยมีหน้าที่สำรวจหมู่บ้าน ต่อมาได้ช่วยงานรัฐบาลไทย ในโครงการพัฒนาที่มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นการยกระดับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้าน ลงพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสกลนคร

ต่อมา ได้ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วิจัยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลงานชื่อว่า สังคมวิทยาของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพรรณนาและการทำความเข้าใจระบบสังคมและชีวิตทางวัฒนธรรม ของชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช ได้ทำวิจัยในโครงการนักวิจัยระดับนานาชาติของนักมานุษยวิทยาอเมริกัน Advanced Research Project Agency (ARPA) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลไทย ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวเขาในประเทศไทย” ได้ลงพื้นที่ศึกษาบริเวณพื้นที่กันชน ชายแดนไทย-พม่า จังหวัดกาญจนบุรี และได้ผลิตผลงานสำคัญ เป็นรายงานเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเกี่ยวกับชาวม้งและชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือและอาณาบริเวณชายแดนไทย-พม่า คือ คู่มือว่าด้วยชาวเขาเผ่าแม้ว ได้รับการพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ระหว่างนี้ ได้เป็นผู้ประสานงานระหว่างโครงการ ARPA กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้จัดพิมพ์หนังสือ สังคมวิทยาและวัฒนธรรมลานนาไทย สำหรับแจกในงานกฐินพระราขทาน ณ วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง ต่อมาจึงได้โอนเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

จากนั้น ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์คเลย์ สหรัฐอเมริกา ผลิตผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง อัตลักษณ์ศาสนาอิสลามในเมืองเชียงใหม่ ระหว่างนั้นได้รับทุนวิจัยภาคสนามที่สหราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาวิทยานิพนธ์ กล่าวได้ว่าผลงานนี้เป็นงานศึกษาบุกเบิกด้าน “มานุษยวิทยามุสลิม” ในประเทศไทย

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ได้รับผิดชอบงานสอนควบคู่กับงานบริหารและงานวิจัย ได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยของโฟล์คสกวาเกน ประเทศเยอรมันตะวันตก (ในขณะนั้น) เพื่อศึกษาค้นคว้าเอกสารที่หอจดหมายเหตุกรุงลอนดอน เผยแพร่งานวิจัย “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในภาคเหนือของประเทศไทย: ผลกระทบการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจอาณานิคมตะวันตก (๒๓๙๓-๒๔๗๕) และตีพิมพ์ในหนังสือรวมบทความเล่มแรก มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์

ภายหลังได้รับการพิจารณาตำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ (๒๕๒๘-๒๕๓๑) เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วได้เข้าร่วมการอบรมพิเศษนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาและความยุติธรรมทางสังคม ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ภายหลังได้แปลและเรียบเรียงหนังสือแนวคิดทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมสมัย ๒ เล่มสำคัญ คือ ทฤษฎีมานุษยวิทยาปัจจุบัน ความรู้พื้นฐานทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรม และ ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย พื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับมานุษยวิทยาในประเทศไทยว่า

“...มานุษยวิทยา... เป็นสาขาที่ไปเกี่ยวพันกับศาสนา ชาติพันธุ์... แต่มันยังมีสังคมสงเคราะห์อะไรเข้ามา ซึ่งผมไม่พอใจในแง่ที่มันไม่เป็นอะไรสักอย่าง

ถ้าเป็นไปได้ เราน่าจะสร้างวิชาที่เป็นมานุษยวิทยาแท้ ๆ หรือสังคมวิทยาแท้ ๆ หรือมันอาจจะเป็นไปได้ว่า ...โดยสิ่งแวดล้อมของเมืองไทยมันเป็นไปไม่ได้?...”

ประวัติการศึกษา

ปริญญาเอก สาขา Anthropology จาก University of California, Berkeley ประเทศ สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2520)

ปริญญาโท สาขา Social Anthropology จาก School of Oriental and African Studies, University of London ประเทศ อังกฤษ (พ.ศ. 2506)

ปริญญาตรี สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2501)

ปริญญาตรี สาขารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2501)

ตำแหน่งทางวิชาการผู้ช่วยศาสตราจารย์
ประเด็นการศึกษาที่เชี่ยวชาญ/สนใจมานุษยวิทยาสังคม, ชาติพันธุ์สัมพันธ์
ผลงานวิชาการที่สำคัญ

สุเทพ สุนทรเภสัช และกองวิจัยและประเมินผล กรมการพัฒนาชุมชน. (2510). การศึกษาหมู่บ้านอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับลักษณะผู้นำท้องถิ่น อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี : รายงานการวิจัย. พระนคร : กองวิจัยและประเมินผล กรมการพัฒนาชุมชน.

Abha Sirivongs na Ayutthaya, Friedrich w. Fuhs, and Suthep Soonthornpasuch. (1979). Village Chiang Mai: Social and Economic Conditions of a Rural Poulation in Northern Thailand. Bangkok: Social Research Institute, Chulalongkorn University.

สุเทพ สุนทรเภสัช. ความเป็นไปได้ในการศึกษาเรื่อง ชาติพันธุ์ ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติ

กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ผลงานวิชาการ (PDF)ดาวน์โหลด
ผู้เผยแพร่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
รูปแบบลิขสิทธิ์สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons)
หัวเรื่องหลักมานุษยวิทยา, ชาติพันธุ์, สังคมวิทยา
ผู้จัดทำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผู้ร่วมงานอื่นๆ

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

http://www.cesd.soc.cmu.ac.th/wordpress/about/comm...